เกี่ยวกับคณะ
พิพิธภัณฑ์กีฬา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

         

           "หนึ่งในพิพิธภัณฑ์กีฬาและโอลิมปิกที่ยอดเยี่ยมแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย"  

           พิพิธภัณฑ์กีฬา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หนึ่งในพิพิธภัณฑ์กีฬาและโอลิมปิกที่ยอดเยี่ยมแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย รวบรวมสิ่งของ เหรียญที่ระลึก โปสเตอร์โอลิมปิกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ของที่ระลึกต่าง ๆ อันทรงคุณค่า   ด้วยปณิธานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร. ณัฐ อินทรปาณ กรรมการโอลิมปิกสากล ที่ต้องการสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการพลศึกษาและการกีฬาในไทย พร้อมเผยแพร่ค่านิยมโอลิมปิก                 

           พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นจากปณิธานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ อินทรปาณ กรรมการโอลิมปิกสากล อดีตคณบดีคณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒคนแรก ซึ่งได้หารือกับ ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในสมัยนั้น ต่อมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ อินทรปาณ ได้นำสิ่งของ เหรียญที่ระลึกและของที่ระลึกต่าง ๆ จากการสะสมในโอกาสที่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการโอลิมปิกสากล ตั้งแต่ปี ค.ศ.1990-2018 มามอบให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการกีฬา พลศึกษาและโอลิมปิกเกมส์ ต้นปี พ.ศ.2552 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้มอบหมายให้ อาจารย์จันทร์ทิพย์ ลิ่มทอง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต ปรับปรุงห้องที่ประทับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่อยู่บนชั้น 3 อาคารศูนย์กีฬาสิรินธร เพื่อจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์กีฬา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งห้องดังกล่าวนี้ เคยเป็นห้องประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีในวันที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ศูนย์กีฬาสิรินธร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ซึ่งในเวลาต่อมา รองศาสตราจารย์ ดร.สุปราณี ขวัญบุญจันทร์ คณบดีคณะพลศึกษาในสมัยนั้น ได้จัดตั้งงบประมาณเงินรายได้ของคณะพลศึกษา และจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้มาดำเนินการปรับปรุงห้องดังกล่าว จนสำเร็จได้มาเป็นพิพิธภัณฑ์กีฬา และคณะพลศึกษาได้จัดให้มีพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์กีฬา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

         สำหรับพิพิธภัณฑ์กีฬา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนั้น ประกอบด้วย ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ฯ มีป้ายชื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา ซึ่งเป็นป้ายดั้งเดิมตั้งแต่สมัยตั้งอยู่ที่กรีฑาสถานแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย) ประวัติความเป็นมาของโอลิมปิกยุคโบราณ โอลิมปิกสมัยใหม่ ปรัชญาโอลิมปิก ภาพของบารอน ปิแอร์ เดอ คูแบร์แตง (Pierre Frédy, Baron de Coubertin) ขุนนางชั้นบารอนของประเทศฝรั่งเศส ผู้ก่อตั้งกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ และภาพของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้นำกีฬาฟุตบอลมาเผยแพร่ในประเทศไทย และนักประพันธ์เพลง กราวกีฬา พร้อมสำเนาลายมือที่ได้เขียนเนื้อเพลงกราวกีฬา ฯลฯ

          เมื่อเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ฯ แบ่งออกเป็น 4 ห้อง ห้องที่ 1 ภายในห้องนี้ ได้ติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ขณะทรงกีฬาเรือใบ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะทรงกีฬาแบดมินตันและบาสเกตบอล เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ในห้องนี้มีของที่ระลึกจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ อินทรปาณ เป็นผู้บริจาคทั้งหมด เช่น คบเพลิง จากกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว และกีฬาโอลิมปิกเยาวชน เหรียญที่ระลึก ของที่ระลึกจากการประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และสหพันธ์กีฬาทั่วโลก

          ห้องที่ 2 เป็นห้องจัดแสดงเรื่องราว ของที่ระลึกจากกีฬาเอเชียนเกมส์ กีฬาซีเกมส์หรือ กีฬาแหลมทอง “เซียพเกมส์” (SEAP Games) เช่น เหรียญที่ระลึก เสื้อเบลเซอร์ สัตว์นำโชค (Mascot) ของที่ระลึกสหพันธ์กีฬาทั่วโลก และสหพันธ์กีฬาโบว์ลิ่งเอเชีย ฯลฯ สิ่งของต่าง ๆ ในห้องนี้ได้รับการสนับสนุนและบริจาคจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ อินทรปาณ คณาจารย์อาวุโส คณาจารย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันและนักกีฬาทีมชาติไทยที่เห็นความสำคัญของการศึกษาและต้องการให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการกีฬา

     

   

          ห้องที่ 3 เป็นห้องจัดแสดงเรื่องราว 100 ปีการพลศึกษาไทย ซึ่งบูรณาการร่วมกันระหว่างการพลศึกษาไทย การกีฬา และโอลิมปิกศึกษา เล่าเรื่องราวตั้งแต่อดีตสมัยที่เป็นห้องพลศึกษากลาง จนปัจจุบันเป็นคณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นประวัติความเป็นมาของการพลศึกษาไทย ผนังห้องมีโปสเตอร์เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน

        

          ห้องที่ 4 เป็นห้องสมุด เพื่อเป็นเกียรติแก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐ อินทรปาณ จึงตั้งชื่อว่า Indrarapana Street ในห้องนี้มีหนังสือต่าง ๆ เกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ขั้นตอนในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ และหนังสือความรู้เกี่ยวกับโอลิมปิกยุคโบราณ โอลิมปิกสมัยใหม่และปรัชญาโอลิมปิก บนผนังห้องมีโปสเตอร์การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน

          ปณิธานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ อินทรปาณ ไม่เพียงมุ่งมั่นให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลศึกษา การกีฬาของประเทศไทยและกีฬาระดับโลกเท่านั้น ยังมุ่งหวังเพื่อสร้างแรงบันดาลใจทางด้านการกีฬาและพลศึกษาแก่คนเยาวชนและคนรุ่นหลัง พร้อมส่งเสริมให้นำค่านิยมโอลิมปิก (Olympic Values) 3 ประการ คือ ความเป็นเลิศ (Excellence) ความเป็นมิตร (Friendship) และความเคารพ (Respect) มาปรับใช้ในชีวิตจริง เพื่อส่งเสริมสันติสุข ความสามัคคี และส่งเสริมซึ่งกันและกัน

          พิพิธภัณฑ์กีฬา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าชมฟรี

ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น.-16.00 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ) ติดต่อเพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ